ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

            เมื่อเดือนธันวาคม 2532 กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ MIDI ได้ทำการสำรวจและศึกษาสภาวะอุตสาหกรรมหล่อโลหะภายในประเทศ คำถามหนึ่งที่งานศึกษาแลวิจัยได้สอบถามความคิดเห็นผู้ประกอบการด้านงานหล่อโลหะก็คือเห็นด้วยหรือไม่หากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะมีการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ และจัดตั้งเป็นชมรมหรือสมาคม เพื่อดำเนินการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว คำตอบที่ได้รับก็คือ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดของทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ MIDI กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและยินดีที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของชมรมหรือสมาคมที่ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรมให้การสนับสนุน

            เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีการรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาในเชิงวิชาการ มีแต่การรวมกลุ่มประมาณ 10 กว่าคน เพื่อพบปะพูดคุยในเชิงธุรกิจและสถานที่พบปะก็จะเป็นภัตตาคาร ร้านอาหาร เป็นส่วนใหญ่ โดยหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ คล้ายๆ การเลี้ยงโต๊ะแชร์

 ประกอบกับเมื่อเดือนธันวาคม 2532 ทาง The Economic and Social Commission for Asia and Pacific (ESCAP)ได้จัดสัมมนาทางวิชาการขึ้นที่ประเทศไทย ภายใต้หัวข้อเรื่อง “Technological Rehabilitation of Small Foundry Industries”โดยมีประเทศต่าง ๆ ในเอเชียเข้าร่วมสัมมนาจำนวน 10 ประเทศคือ จีน อินโดนีเซีย เนปาล บังคลาเทศ ลาว ปาปัวนิวกิณี เกาหลีใต้ ปากีสถาน และประเทศไทย ส่วนใหญ่ประเทศดังกล่าวจะมีชมรมหรือสมาคม ยกเว้นบางประเทศ อาทิ ประเทศไทย ลาว และปาปัวนิวกิณี

 ในการสัมมนาครั้งนี้ ผู้จัดได้กำหนดให้แต่ละประเทศทำรายงานสรุปสภาวะอุตสาหกรรมหล่อโลหะของประเทศตนเอง เสนอให้แต่ละประเทศรับทราบและมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมหล่อโลหะร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็มีข้อคิดเห็นตรงกันอยู่ข้อหนึ่งคือ การใช้ชมรม หรือสามาคมดำเนินการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของผู้ประกอบการ

            ในส่วนของประเทศไทย ศ.มนัส สถิรจินดา อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโลหะการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้แทนของประเทศไทย ซึ่งทาง ESCAP มีค่าตอบแทนให้กับผู้เสนอรายงาน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (MIDI) จำนวน 2 ราย ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะผู้สังเกตการณ์ คือ นายไพศิษฐ์ สิงน้อย และนายบันฑิต ใจชื่น

 หลังเสร็จสิ้นการสัมมนา ศ.มนัส สถิรจินดา ได้ปรึกษาหารือกับ ดร.ดำริ สุโขธนัง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (MIDI) เพื่อหาแนวทางในการจัดตั้งชมรมหรือสมาคม ซึ่ง ดร.ดำริ ยินดีที่จะร่วมกับอาจารย์ ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และได้มอบหมายให้นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ หัวหน้าผ่ายปฏิบัติการทางเทคนิค (ตำแหน่งในขณะนั้น) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยในขั้นแรกจะดำเนินการจัดตั้งในรูปของชมรมก่อน

            คุณวิรัตน์ได้ดำเนินการเชิญชวนกลุ่มสมาชิกที่สนใจจะจัดตั้งชมรมเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2533 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชมรม กำหนดวัตถุประสงค์และบทบาทของชมรม ซึ่งที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.มนัส สถิรจินดา เป็นประธาน “ชมรมช่างหล่อโลหะไทย” มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “The Foundrymen’s Form”และเนื่องจากชมรมฯ ที่ก่อตั้งยังไม่มีงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการ ศ.มนัส สถิรจินดา จึงได้บริจาคค่าตอบแทนที่ได้รับจากการเป็นผู้แทนของประเทศเข้าร่วมประชุมเสนอรายงานทางวิชาการ ซึ่ง ESCAP เป็นผู้จัดตามที่กล่าวมาข้างต้น ให้เป็นเงินทุนเริ่มแรกสำหรับบริหารชมรมฯ

            ผู้ประกอบการโรงหล่อโลหะรู้สึกซาบซึ้งและดีใจที่ ศ.มนัส สถิรจินดา มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะจัดตั้งชมรมหรือสมาคมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหล่อโลหะขึ้นภายในประเทศ และยอมเสียสละเวลารับเป็นประธานชมรมฯ ถึง 2 สมัยติดต่อกัน